อัพเดทล่าสุด
หน้าแรก / ธุรกิจส่วนตัว / “ธุรกิจร้านอาหาร” เตรียมตัวอย่างไรให้พร้อม ก่อนเปิดร้าน

“ธุรกิจร้านอาหาร” เตรียมตัวอย่างไรให้พร้อม ก่อนเปิดร้าน

แค่มีเงินลงทุนอย่างเดียวคงไม่เพียงพอ สำหรับการทำธุรกิจร้านอาหารเพราะคุณจำเป็นต้องศึกษาข้อมูลความรู้ เทคนิคและอะไรอีกหลายๆ อย่างเพื่อให้ธุรกิจร้านอาหารของคุณประสบความสำเร็จ อย่างยาวนานต่อเนื่องเพราะฉะนั้นการเตรียมตัวให้พร้อมก่อนที่จะเริ่มทำธุรกิจร้านอาหารจริงเป็นสิ่งสำคัญยิ่งคุณศึกษาหาความรู้มาดีมากเท่าไร คุณก็ยิ่งได้เปรียบและมีโอกาสกว่าคนที่ไม่มีข้อมูลความรู้อะไรเลยว่าแล้วก็มาดูสิ่งที่คุณต้องเตรียมตัวก่อนทำธุรกิจอาหารกันดีกว่าค่ะ ว่ามีอะไรบ้าง และคุณมีบ้างแล้วหรือยัง

1. ทำเลที่จะขายและขนาดของร้าน

เมื่อคุณคิดจะทำธุรกิจร้านอาหาร คุณต้องคิดก่อนว่าร้านของคุณจะต้องมีขนาดเท่าไรซึ่งอ้างอิงจากทำเล เงินทุนที่มีและการออกแบบพื้นที่ โดยทำเลของร้านนั้นเป็นสิ่งสำคัญมากที่สุดแล้วเนื่องจากร้านของคุณจะต้องอยู่ตรงนั้นไปตลอด และยิ่งมีสัญญาค่าเช่าที่ที่มีระยะเวลานาน บวกกับราคาที่สูง คุณยิ่งต้องเลือกทำเลให้ดีๆเลยล่ะ โดยเริ่มจากคุณต้องลงพื้นที่สำรวจทำเลที่สนใจสังเกตพฤติกรรมลูกค้าในบริเวณนั้นดูทุกช่วงเวลาและสอบถามหรือหาข้อมูลเกี่ยวกับทำเลตรงนั้น ว่าจะมีสิ่งปลูกสร้างอะไรเพิ่มเติมหรือไม่เช่นตลาดนัด คอนโด นอกจากนี้ร้านคู่แข่ง ที่จอดรถ การเข้าถึงการมองเห็น ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ต้องนำมาพิจารณาในการเลือกทำเลร้านด้วย

2. กำหนดรูปแบบของร้านและลูกค้า

การกำหนดรูปแบบของร้าน เป็นสิ่งที่คุณต้องตอบโจทย์ลูกค้าเป้าหมายของคุณให้ได้ว่าทำไมเขาถึงต้องเลือกมารับประทานอาหารที่นี่เพราะหากคุณวางรูปแบบชัดกลุ่มลูกค้าก็จะตรงตามเป้าหมายที่คุณต้องการ โดยการวางรูปแบบนั้นจะขึ้นอยู่กับภาพภายในร้านจากด้านนอกที่อยากให้เห็น Mood&Tone เป็นแนวไหนชื่อร้าน โลโก้ ภาพจำที่อยากให้ลูกค้าเห็นและจุดเด่นของร้านที่ต้องการนำเสนอ ซึ่งการออกแบบเพื่อให้ได้รูปแบบที่ต้องการ คุณต้องไม่ลืมว่ากลุ่มลูกค้า ทำเล และงบประมาณคือสิ่งสำคัญเช่น ออกแบบร้านแนวหรูหรา แต่อยู่ในย่านตลาดแถวชานเมือง ก็อาจทำให้ลูกค้าในบริเวณนั้นไม่กล้าเข้ามาใช้บริการได้ นอกจากนี้ การนำเสนอในเรื่องของประสบการณ์ ความแตกต่างที่ลูกค้าจะได้รับ เช่น เมนูแปลกพิสดาร หรือการบริการรูปแบบใหม่ๆ ก็ถือว่าเป็นการกำหนดรูปแบบของร้านอีกแนวหนึ่ง

3. ชื่อร้านที่ควรใช้

ไม่ว่าจะเป็นชื่อร้านอาหารอะไรก็ตาม การตั้งชื่อร้านที่ดีควรเป็นชื่อที่จดจำง่ายออกเสียงง่าย ไม่ยาวเกินไปแตกต่างจากคู่แข่ง หรือไม่ควรเขียนหรือออกเสียงคล้ายกันและต้องเป็นชื่อที่สามารถนำไปจดทะเบียนการค้าได้ ง่ายต่อการนำไปออกแบบ ทั้งเป็นโลโก้ ตกแต่งร้าน และเมนูของร้าน สำหรับวิธีการตั้ง หากใครยังไม่มีไอเดียหรือนึกไม่ออก ก็ลองใช้ชื่อของตัวเอง หรือจะเป็นชื่อตามทำเลที่อยู่ของร้าน หรือแม้แต่ประเภทของสินค้าที่ขาย ก็สามารถนำมาตั้งให้เป็นชื่อเก๋ๆได้นะ เช่น มนต์นมสด ตำแหล นิตยาไก่ย่าง เป็นต้น

4. สูตรอาหารและการนำเสนอเมนู

การมีสูตรอาหารแบบเฉพาะเจาะจงของร้านถือว่าเป็นไอเดียและกลยุทธ์ที่ดีแต่ต้องมีรสชาติที่ดีด้วยนะ ไม่เช่นนั้นอาจส่งผลต่อชื่อเสียงและแบรนด์แน่นอน ส่วนการนำเสนอเมนูนั้น ร้านอาหารควรมีเมนูแนะนำอย่างน้อย 5 เมนู เพื่อเป็นการ Present ลูกค้า ให้รับประทานเมนูที่เด็ดที่สุดของร้าน และเกิดความประทับใจ อีกทั้งการจัดจาน แต่งจานให้สวยงาม หรือการเสิร์ฟแบบแปลกใหม่ ก็ถือว่าเป็นการนำเสนอเมนูที่น่าสนใจ และเป็นการกระตุ้นให้ลูกค้ารู้สึกอยากถ่ายภาพ พร้อมกับแชร์ให้คนอื่นได้เห็นบนสื่อโซเชียลมีเดียด้วย

5. มนุษย์สัมพันธ์กับทีมงาน และซัพพลายเออร์

แน่นอนว่าธุรกิจร้านอาหารของคุณต้องจ้างแม่ครัว-พ่อครัว และพนักงานเสิร์ฟซึ่งทีมงานเหล่านี้ เปรียบเสมือนตัวแทนของคุณ ในการสร้างความประทับใจและปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้า โดยส่งผลไปถึงการมียอดขายที่ดี และกำไรที่งดงาม แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น การจะมีทีมงานที่สร้างความประทับใจให้ลูกค้าได้ ต้องมาจากการอบรม ดูแล ตักเตือน ให้คำแนะนำ ให้ความเชื่อใจ ไว้ใจ มนุษย์สัมพันธ์ที่ดี และมีน้ำใจต่อทีมงาน โดยคุณต้องสร้างสิ่งดีๆเหล่านี้ให้พวกเขาเห็น รับรู้ รู้สึก และซึมซับ จนเกิดเป็นนิสัย เพื่อส่งต่อการบริการที่ดีให้แก่ลูกค้า เพราะฉะนั้น ก่อนคัดเลือกทีมงานคุณภาพ คุณต้องมีการสัมภาษณ์และอาจมีบททดสอบทางจิตวิทยา เพื่อเป็นการทำความรู้จักตัวตนของพวกเขาในเบื้องต้น

ส่วนซัพพลายเออร์หรือคู่ค้า คือห่วงโซ่สำคัญของธุรกิจคุณ โดยพูดได้เลยว่า คุณจะประสบความสำเร็จได้ยากแน่ หากมีปัญหาหรือบาดหมางกับคู่ค้า และคุณอาจจะเดือนร้อนมากกว่าเดิมได้ เพราะฉะนั้นจงเป็นมิตรกับทุกคน และไม่จำเป็นอย่าสร้างศัตรูเป็นอันขาด

6. เงินทุนที่ต้องมี

เงินลงทุนสำหรับร้านอาหารที่คุณควรจะต้องมี ได้แก่ เงินมัดจำค่าเช่าที่ เงินค่าอุปกรณ์ทำครัว อุปกรณ์ตกแต่งร้าน อุปกรณ์ในร้าน อุปกรณ์คิดเงิน วัตถุดิบ ค่าโฆษณาการตลาด ค่าจ้างพนักงาน รวมถึงค่าจิปาถะอื่นๆที่คุณต้องมีเงินไว้สำรองจ่ายด้วย ซึ่งการแบ่งเงินทุนแต่ละส่วน มีรายละเอียดคร่าวๆดังนี้

  • ค่าตกแต่งร้าน : งบประมาณจะขึ้นอยู่กับขนาดและสไตล์ของร้าน แต่หากคุณสามารถทำของตกแต่งจากวัสดุเหลือใช้ได้ ก็ถือว่าเป็นการประหยัดเงินในส่วนนี้ไปได้มากทีเดียว
  • ค่าเช่าที่  ค่าจ้างพนักงาน : 2 อย่างนี้เป็น Fixed Cost ที่ต้องจ่ายเท่ากันทุกเดือน
  • ค่าวัสดุอุปกรณ์ : มีทั้งจ่ายครั้งเดียว  รายเดือน (หรือรายสัปดาห์) และรายวัน
  • ค่าวัตดุดิบ : ได้แก่ เครื่องปรุงต่างๆ ผัก เนื้อสัตว์ ข้าว

7. แบบแผนธุรกิจร้านอาหาร

การมีแบบแผนในการทำธุรกิจย่อมดีกว่าอยู่แล้ว เพราะเหมือนเป็นการกำหนดทิศทาง ให้คุณได้ดำเนินการตามแผนที่วางไว้อย่างรอบคอบ ซึ่งปัจจัยแต่ละอย่างที่คุณต้องนำมาวิเคราะห์และเขียนแบบแผนให้ธุรกิจร้านอาหารของคุณ คือ เงินลงทุนสำหรับร้าน เช่น ค่าเช่าที่ ค่าตกแต่ง ค่าวัสดุอุปกรณ์, ต้นทุนวัตถุดิบ, การตลาด, ค่าจ้างพนักงาน และเมื่อนำปัจจัยเหล่านี้ มาสรุปเป็นแผน จะทำให้คุณเห็นถึงรายได้ กำไร ขาดทุนที่ชัดขึ้น ซึ่งในบางครั้งคุณไม่สามารถคาดเดาได้เลย ว่าธุรกิจที่กำลังไปได้ดี ขายได้ มีลูกค้าตลอดเวลา จะมีกำไรหรือขาดทุนมากน้อยแค่ไหน แต่หากคุณมีแบบแผนธุรกิจ มีการวิเคราะห์ คำนวณ เปรียบเทียบ คุณจะมองเห็นส่วนต่างๆชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเกิดปัญหา คุณจะสามารถหาทางแก้ไขได้อย่างทันท่วงที

8. การตลาดและประชาสัมพันธ์

ก่อนเปิดร้านอาหาร คุณสามารถทำการตลาดเพื่อประชาสัมพันธ์ร้านของคุณได้เลย เพื่อสร้างแรงกระตุ้น แรงจูงใจให้ลูกค้าสนใจและต้องการที่จะมาใช้บริการ เช่น ฉลองเปิดร้าน ลด 50% ทุกเมนู หรือรับเครื่องดื่มฟรี เมื่อสั่งเมนูดังกล่าว ซึ่งโปรโมชั่นช่วงเปิดร้านใหม่ๆ ต้องเป็นอะไรที่ดึงดูดลูกค้าได้จริงๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบอกต่อโปรโมชั่นบนสื่อโซเชียลมีเดีย เพื่อกระจายข่าวในวงกว้าง นอกจากนี้ คุณต้องถ่ายภาพเมนูอาหารของคุณ ให้สวย สะดุดตา บวกกับเขียนคำบรรยายให้น่าสนใจ และแจ้งโปรโมชั่นให้ชัดเจน เพื่อตอกย้ำการประชาสัมพันธ์ช่วงเปิดร้านที่คุณต้องการดึงดูดลูกค้าให้มาใช้บริการ อย่างไรก็ตามแต่ การทำการตลาดในช่วงแรกเป็นเหมือนการแจ้งข่าว บอกกล่าวให้ลูกค้ารู้จักร้านของคุณมากกว่า ซึ่งหลังจากนั้น คุณต้องพยายามทำการตลาดแบบมัดใจลูกค้า โดยเปลี่ยนจากลูกค้าชั่วคราว เป็นลูกค้าประจำ และทำให้เกิดการบอกต่อจากลูกค้าเอง

การเตรียมตัวให้ดี มีชัยไปกว่าครึ่ง” คำกล่าวนี้สามารถใช้ได้กับทุกธุรกิจเลยก็ว่าได้ค่ะ เพราะตราบใดที่คุณยังไม่เริ่มธุรกิจ คุณก็ยังมีเวลาเตรียมตัวจนกว่าจะพร้อม และยิ่งเตรียมตัวดีมากเท่าไร โอกาสในการประสบความสำเร็จก็ยิ่งสูง….ธุรกิจร้านอาหารก็เช่นกัน หากคุณมีความพร้อมทั้ง 8 ข้อที่กล่าวมา หรือมากกว่านั้น ก็สรุปได้เลยว่า ธุรกิจจะไปได้สวยอย่างแน่นอน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็ต้องมีการรับมือหรือเผื่อใจ หากเกิดกรณีที่ไม่คาดฝันขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของพนักงาน ลูกค้า บัญชี การเงิน หรือปัญหาอื่นๆ แต่ก็หวังว่าทุกอย่างจะผ่านไปได้ด้วยดี ถ้ามีสติในการแก้ไขนะคะ

advertisement

About Admin

"สยามอาชีพ" อาชีพเสริม สร้างอาชีพ สร้างรายได้

Leave a Reply

Your email address will not be published.